|
 |
มวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยเช่นเดียวกับกังฟูของจีน ยูโดและคาราเต้ของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลี

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒ |
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย
ได้แก่
๑) สมัยอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมากจนทรงปลอมพระองค์มาชกมวยกับชาวบ้าน และชนะคู่ต่อสู้ถึง ๓ คน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นสามัญชน มาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์
เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยไทยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี หรือมีความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆ ก็เกิดจากการฝึกฝนกับพระสงฆ์ในวัดแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
๒) นักมวยที่มีฝีมือดีมีโอกาสเข้ารับราชการให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะการเป็นทหารในส่วนราชการที่เรียกว่า ทนายเลือก ซึ่งเป็นกรมที่ดูแลนักมวย ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์
|
๓) เมื่อครั้งที่นายขนมต้มถูกจับเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ ในการทำสงครามกับไทย และสุกี้พระนายกองได้คัดเลือกนายขนมต้มให้ขึ้นชกกับนักมวยพม่า นายขนมต้มสามารถชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง ๑๐ คน ดังที่ รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า "พม่าแพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว" แสดงให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ

การชกมวยไทยหน้าพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๒
๔) ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก และอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย
|